โอเมก้า 3, 6, 9 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายสร้างเองไม่ได้ แต่ขาดไม่ได้ และพบในน้ำมันทั่วไปได้น้อยมาก โดยโอเมก้า 3, 6, 9 มีความแตกต่างกันดังนี้ (ข้อมูลจากเพจมุมยาเภสัชกร 101)
กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3
แบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ ได้แก่ พวก EPA (Eicosapantaenoic acid) และ DHA (Docosahexanoic acid) มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับ ไต และระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้ รวมทั้งเกี่ยวกับเรตินาในการมองเห็น ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ลดการอักเสบในกระแสเลือดและบริเวณข้อต่อได้อีกด้วย
กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6
ได้แก่ กรดลิโนเลอิก (Linoleic acid=LA) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การทำงานของสมองและหัวใจ ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ ลดภาวะความเครียดของสตรีในช่วงก่อนมีประจำเดือน คืนความชุ่มชื่นให้กับผิวที่แห้งกร้าน ตลอดจนบรรเทาอาการอักเสบของสิว ผื่นแดงที่ผิวหนัง (โรคเรื้อนกวาง) ผิวหนังอักเสบ หนังศีรษะอักเสบ ผมร่วง แผลหายช้า
กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 9
ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) มีบทบาทสำคัญช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และสามารถเปลี่ยนเป็นกรดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ได้เมื่อร่างกายขาด
ซึ่งจากผลการตรวจคุณค่าทางโภชนาการของของข้าว 10 สายพันธุ์ โดยกรมการข้าว ในปี 2559 พบว่า
ข้าวที่มีโอเมก้า 3 มากที่สุดคือ ข้าวไรซ์เบอรี่ รองลงมาคือ ข้าวเหนียวลืมผัว และข้าวอัลอัมดุลิลละห์ ตามลำดับ
ข้าวที่มีโอเมก้า 6 มากที่สุดคือ ข้าวไรซ์เบอรี่ รองลงมาคือ ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ และข้าวเหนียวลืมผัว ตามลำดับ
ข้าวที่มีโอเมก้า 9 มากที่สุดคือ ข้าวไรซ์เบอรี่ รองลงมาคือ ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ และข้าวหอมมะลิ 105 ตามลำดับ
กล่าวโดยสรุป ข้าวที่มีโอเมก้ามากก็คือ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ และข้าวเหนียวลืมผัว
เดชรัต สุขกำเนิด
13 ธันวาคม 2560