ในร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาชนิดหนึ่งเรียกว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งแม้จะเป็นปฏิกิริยาพื้นฐานในชีวิตของเรา แต่ปฏิกิริยาออกซิเดชันก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะจะเกิดอนุมูลอิสระ (หรือ free radical) ที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งทำลายเซลล์
ร่างกายจึงมีกลไกการป้องกันตนเองที่ซับซ้อน และสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ anti-oxidant ไว้คอยชะลอหรือยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ โดยการกำจัดสารอนุมูลอิสระ หรือแย่งเข้าไปทำปฏิกิริยาก่อนสารอนุมูลอิสระ เพื่อไม่ให้ปฏิกิริยาลูกโซ่ลุกลามไป
ในธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ล้วนมีสารต้านอนุมูลอิสระไว้คอยป้องกันตนเอง การที่ร่างกายมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับที่ต่ำ จะทำให้เกิดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และอาจทำให้เซลล์ได้รับความเสียหายได้
ข้าวก็เป็นแหล่งสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีสารต้านอนุมูลอิสระไม่เท่ากัน กรมการข้าวได้ทำการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการของข้าว 10 สายพันธุ์ (หลายๆ ด้าน แต่ในโพสต์นี้ขอกล่าวเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ) ในปี 2559 ได้ผลพบว่า
ข้าวดอกข่า (จ.พังงา) มีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดที่ 564 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม ตามมาด้วย ข้าวเหนียวดำลืมผัว 491 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม มาเป็นอันดับที่ 2 และข้าวทับทิมชุมแพ มาเป็นอันดับที่ 3 ที่ 308 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม
ถ้านำข้าวพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ มาเปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวยอดนิยมของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ (37 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม) และข้าวไรซ์เบอรรี่ (186 มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม) นับว่า ข้าวทั้งสามสายพันธุ์ข้างต้น มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอร์รี่อย่างชัดเจน
เพราะฉะนั้น คุณค่าของข้าวไทยยังมีอีกมากที่เรายังมิได้เจียระไนออกมาให้เป็นที่ต้องตาของผู้บริโภค และหากทำได้ เราก็จะสามารถเพิ่มพูนทั้งคุณค่าและมูลค่าของข้าวไทยได้อีกมาก
เดชรัต สุขกำเนิด
8 ธันวาคม 2560