ประวัติพันธุ์
ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวเหนียวสีพันธุ์พื้นเมืองจากจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ที่เกษตรกรนิยมปลูกทั่วไปในภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2542 ได้จํานวน 89 พันธุ์ มาปลูกศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาสวน นาน้ำฝนภาคใต้ที่ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ในฤดูนาปี 2546/47 ถึง 2547/48 หลังการจัดหมวดหมู่กลุ่มพันธุ์แล้ว ได้ดําเนินการปลูกคัดเลือกให้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) แบบรวงต่อแถวในแต่ละกลุ่มพันธุ์/สายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี คัดเลือกข้าวเหนียวดําหมอได้ สายพันธุ์ PTNC96051-37 ซึ่งได้เก็บตัวอย่างพันธุ์มาจากอําเภอเมือง จังหวัดพัทลุง (กรมการข้าว, 2554)
ลักษณะประจำพันธุ์
ข้าวเหนียวดําหมอ 37 สายพันธุ์ PTNc9605137 เป็นข้าวเหนียวดําพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง ออกดอกต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ย 378 กิโลกรัมต่อไร่ ความสูงประมาณ 139 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง แผ่นใบสีม่วงผสมเขียว กาบใบ สีเขียวเส้นม่วง ใบธงหักลง ยอดเกสรตัวเมียสีม่วงอ่อน ยอดดอกสีม่วงดํา สีกลีบรองสีม่วงแดง คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง การแตกระแงปานกลางรวงยาว 24.8 เซนติเมตร ข้าวเปลือกสีฟางกระน้ำตาล เมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.69 มิลลิเมตร กว้าง 3.10 มิลลิเมตร หนา 2.04 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีดํายาว 7.28 มิลลิเมตร หนา 1.80 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดค่อนข้าง ป้อม น้ำหนักข้าวเปลือก 27.93 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด ระยะพักตัวประมาณ 8 สัปดาห์ เป็นข้าวเหนียวดําพื้นเมือง เมื่อนึ่งสุกมีลักษณะ อ่อนนุ่มที่ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้นิยมนําไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นอาหารเสริมหรืออาหารว่างใช้ในงานบุญประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ทําให้มีราคาจําหน่ายสูงกว่าข้าวทั่วไป
คุณค่าทางโภชนาการ
เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งพบว่าข้าวกล้องและข้าวกล้องงอกมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสีและสารในกลุ่มวิตามินอีแอลฟาโทโคฟีรอลสูง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 รวมทั้งความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ