ประวัติพันธุ์
จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยมาเนิ่นนานถูกเรียกขานเป็นดินแดนแห่งทุ่งรวงทอง พื้นที่ปลูกข้าวในเขตจังหวัดพะเยาถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขต ภาคเหนือที่ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีในพื้นที่เทือกเขาหรือแอ่ง (Basin) ซึ่งรองรับด้วยส่วนเป็นที่หินแข็งอายุตั้งแต่ 286 ล้านปี พื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำ สภาพดินเป็นดินร่วนที่มีแร่ธาตุที่จําเป็นต่อพืชอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่งผลให้ “ข้าวหอมมะลิพะเยา” มีชื่อเสียงในด้านความหอม หุงแล้วอ่อนนุ่มเป็นที่นิยม ของผู้บริโภค
“ข้าวหอมมะลิพะเยา” เป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะเด่น คือ เมล็ดข้าวสารมีรูปร่างเรียวยาว เมล็ดจะมีสีใส เมล็ดสวย ท้องไข่น้อย ผิวเมล็ดข้าวสุกจะ มีความเลื่อมมัน และที่สําคัญมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตยตั้งแต่ระยะกล้า แทงช่อดอก และระยะข้าวสุกแก่ อันเป็นอัตลักษณ์ เมื่อหุงเป็นข้าวสุกจะมีสีขาวนวลเนื้อสัมผัสนุ่ม เหนียว เกาะติดกัน เมล็ดสวย อ่อนนุ่ม ข้าวไม่แฉะ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ คล้ายๆ กับกลิ่นใบเตย แม้ทิ้งไว้นานก็ยังคงสภาพ กลิ่นหอมและนุ่ม จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
ลักษณะประจำพันธุ์
ข้าวหอมมะลิพะเยา (Phayao Hom Mali Rice และหรือ Khao Hom Mali Phayao) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 เมล็ด ข้าวสารมีรูปร่างเรียว ยาว เมล็ดใส ท้องไข่น้อย เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แม้ทิ้งไว้นาน ก็ยังคงสภาพ กลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขาหรือแอ่งที่ทับถมด้วยตะกอนแม่น้ำ ในพื้นที่ 9 อําเภอ ของจังหวัดพะเยา
ความสัมพันธ์แหล่งภูมิศาสตร์
ลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18 องศา 44 ลิปดาเหนือ ถึง 19 องศา 44 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 40 ลิปดาตะวันออก ถึง 100 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปล้อมรอบด้วยเทือกเขาทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ มีที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูกอยู่สองข้างเทือกเขาและระหว่างลําน้ำเขตลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวมีความอุดมสมบูรณ์ และมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.72 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 16.94 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ความชื้นสัมพัทธ์ เฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 71.89 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปีเฉลี่ย 1,262.40 มิลลิเมตร โดยเดือน กันยายนมีฝนตกมากที่สุด และเดือนมกราคมมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยน้อยที่สุด ปริมาณน้ำฝนมีกระจายตัว แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ จากสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวจึงเป็นแหล่งที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าว หอมมะลิ ส่งผลให้การผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดี ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ค่อนข้างสูง ข้าวหอมมะลิ พะเยา เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แม้ทิ้งไว้นานก็ยังคงสภาพ กลิ่นหอม ซึ่งเกิดจากสารระเหย ที่เรียกว่า 2-acetyl-1-pyrroline (2AP) ที่มากกว่าข้าวทั่วไป
คุณค่าทางโภชนาการ
สารต้านอนุมูลอิสระ สังกะสีและโฟเลตสูง ลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้านมะเร็ง ช่วยควบคุมน้ำตาล ช่วยบำรุงโลหิตสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563