ข้าวหอมมะลิสุรินทร์

ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ

ข้าวหอมมะลิสุรินทร์

image

ประวัติพันธุ์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปลูกข้าวมาอย่างยาวนานจากร่องรอยข้าวเปลือกหรือแกลบที่ตั้งอยู่ในซากโบราณวัตถุสันนิษฐานได้ว่า มีการปลูกมาแล้วมากกว่า 5,500 ปี แต่การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เริ่มปลูกหลังจากทางราชการมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและรับรอง พันธุ์ในปี 2502 ในชื่อพันธุ์ “ขาวดอกมะลิ 105” และมีการปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าว ทําให้อายุข้าวเบากว่าประมาณ 10 วัน มีการรับรองในชื่อพันธุ์ “กข 15" จังหวัดสุรินทร์ ในอดีตประชากรประกอบด้วยชนชาติต่างๆ เช่น ชาวไทย-กูย ไทย-ลาว และไทย-เขมร ซึ่งปลูกข้าวมาแต่โบราณมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวมากมาย รวมถึงการเลี้ยงช้างเพื่อช่วยงานเกษตรกรรม และปัจจุบันเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และ เมล็ดพันธุ์ กข. 15 ที่บริสุทธิตรงตาม พันธุ์และมีปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการทําเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เกษตรกรมีการปลูกข้าวหอมมะลิเป็นพืชหลักจนมีชื่อเสียง ซึ่งชาวสุรินทร์กล่าวว่า “ข้าวหอม มะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม”
 

ลักษณะประจำพันธุ์

“ข้าวหอมมะลิสุรินทร์” ( Surin Hom Mali Rice ) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่แปรรูป มาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ที่ผลิตในจังหวัดสุรินทร์ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ

 

ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดสุรินทร์มีปาที่อุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และทุ่งนาที่ใช้ในการปลูกข้าวสภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียวมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และไม่อุ้มน้ำ สภาพพื้นที่ไม่เป็นแอ่งกะทะ น้ำไม่ท่วมขังนาน มีระบบ กักเก็บถ่ายเทน้ำได้ง่าย

การเพาะปลูกข้าวขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและอาศัยน้ำฝนเป็นหลักจึงต้องทําคันนาและแบ่งพื้นนาออกเป็นแปลง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเก็บกักน้ำให้พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของข้าว ที่นามีสองลักษณะคือ นาดอน และ นาลุ่ม พื้นที่นาดอนเหมาะสําหรับปลูกข้าวพันธุ์ กข 15 ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ส่วนพื้นที่นาลุ่มเหมาะสําหรับปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่า

 

คุณค่าทางโภชนาการ

ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ยังอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์นานาชนิดเช่น วิตามินบี 1 ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา และวิตามินบี 2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ไนอะซีนช่วยในการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ โปรตีนช่วยในการเสริมสร้างการเจริญเติบโต ไขมันช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน และที่สำคัญยังให้พลังงานแก่ร่างกาย

 

ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551

ด้านบน